ฟอสเฟส VS สาหร่ายที่ไม่พึงประสงค์

34584 จำนวนผู้เข้าชม  | 

  
บทนำ
นักเลี้ยง หลายท่านคงเคยประสบ ปัญหาตะไคร่ หรือสาหร่ายที่ไม่พึงประสงค์ต่างๆที่เกิดขึ้นในระบบอย่างไม่มีทีท่าว่าจะสามารถหยุดได้ ตะไคร่เหล่านี้ก่อให้เกิดผลเสียทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อระบบตู้ทะเลของท่าน หลายท่านพยายามกำจัดสาหร่ายที่ไม่พึงประสงค์เหล่านี้ด้วยหลายๆวิธี ไม่ว่าจะเป็น ขูดออกหา สัตว์ที่กินตะไคร่ มาใส่ใช้ ยากำจัดตะไคร่ ที่มีขายตามท้องตลาดเปลี่ยนน้ำ และอื่นๆอีกหลายวิธี แต่ก็ไม่สามารถกำจัดออกไปในระยะยาวได้ เพียงไม่นานตะไคร่ก็กลับมาก่อความรำคาญให้ท่านอีก ส่วนใหญ่หลายท่านอาจจะพยายามแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาได้ในระยะสั้นๆเท่านั้น การแก้ปัญหาตะไคร่ในระยะยาวท่านควรจะมองถึงวงจรชีวิตของสาหร่ายหรือตระไคร่นั้นๆ แล้วค่อยๆเริ่มที่จะแก้ไขปัญหาไปทีละจุดอย่างช้าๆ
                   สาหร่ายและตะไคร่ต่าง ๆ โดยส่วนใหญ่เข้ามาสู่ตู้ของท่านโดยที่ท่านเป็นผู้นำเข้ามาเอง ทั้งอย่างตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจ สปอร์ของ สาหร่ายขนแมว หรือสาหร่ายอื่น ๆ อาจติดมากับ น้ำทะเล จากแหล่งธรรมชาติที่ท่านใช้ในการเปลี่ยนน้ำ หรืออาจติดมาจากหินเป็น ปะการัง ต่างๆที่ท่านใส่ลงไปในระบบ สาหร่ายเหล่านี้จะใช้แร่ธาตุต่าง ๆ ของน้ำทะเลในระบบ รวมทั้งแสงไฟเพื่อเป็นตัวช่วยในการเจริญเติบโต ซึ่งธาตุอาหารหลัก ๆ ที่สาหร่าย และตะไคร่เหล่านี้ต้องการใช้นั้นมีอยู่หลายชนิด แต่แร่ธาตุหลักที่เราจะกล่าวถึงในบทความนี้คือ ฟอสเฟส หรือ PO4   
ฟอสเฟส เป็น อีกหนึ่งมาตรวัดที่สำคัญสำหรับการดูแลรักษาระบบตู้ทะเลของท่าน แต่มักจะถูกมองข้ามจากนักเลี้ยงส่วนใหญ่ เนื่องจากอุปกรณ์วัดปริมาณฟอสเฟสที่ได้มาตรฐานนั้น มีราคาค่อนข้างสูงและหาซื้อได้ยาก ปริมาณฟอสเฟสที่เกินกว่าระดับมาตรฐานจะก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ในระบบมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการชลอการเจริญเติบโตของ ปะการัง บางชนิด และยังก่อให้เกิดปัญหาสาหร่าย หรือตะไคร่ที่ไม่พึงประสงค์ในระบบ ฟอสเฟสที่ปรากฎอยู่ในระบบตู้ทะเล มีอยู่หลากหลายรูปแบบ แต่เราจะมุ่งประเด็นความสนใจไปที่ ortho-phosphate ซึ่งเป็นรูปแบบของฟอสเฟสที่ พืชน้ำ สาหร่าย รวมไปถึงตะไคร่ต่าง ๆ ทั้งที่พึงประสงค์และไม่พึงประสงค์ นำไปใช้เป็นอาหารเพื่อการขยายพันธุ์ และการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว
ปริมาณฟอสเฟสที่แนะนำคือ ปริมาณเดียวกับในระดับน้ำทะเล แต่ในท้องทะเลตามธรรมชาตินั้น ปริมาณฟอสเฟสอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำมาก ประมาณ 0.005 ppm แต่ในตู้ทะเลนั้น ระดับฟอสเฟสควรอยู่ที่ประมาณ น้อยกว่า 0.03 จึงจะทำให้ปัญหาตะไคร่ต่าง ๆ ลดลงและหายไป
 
 
ที่มาของฟอสเฟส PO4
หลายท่านอาจสงสัยว่าฟอสเฟสเข้าสู่ระบบได้อย่างไร คำตอบก็คือ “ฟอสเฟสเข้าสู่ระบบของท่านด้วยฝีมือของท่านเอง” ฟอสเฟสส่วนใหญ่ แฝงเข้าสู่ระบบของท่าน โดยที่ท่านเป็นผู้ใส่มันลงไปทีละน้อยอย่างไม่รู้ตัวฟอสเฟส อาจแฝงตัวเข้ามากับสิ่งที่ท่านใช้ดูแลรักษาระบบของท่านอยู่เป็นประจำ อาทิเช่น  
อาหารปลาทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นอาหารสดหรืออาหารแห้ง จะมีปริมาณของฟอสเฟสผสมอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารทะเลสดที่มีขายอยู่ตามท้องตลาด ในที่นี้หมายถึงกุ้ง ปู ปลา ปลาหมึก ชนิดเดียวที่กับที่เรารับประทาน ไม่ว่าจะเป็นแบบสด แบบแช่แข็งหรือแบบกระป๋อง อาหารทะเลเหล่านี้มักจะถูกอาบด้วยด้วย inorganic phosphate saltเพื่อช่วยรักษาความสดของอาหาร การล้างด้วยน้ำสะอาดหลายๆครั้งจะช่วยลดปริมาณของฟอสเฟสออกจากอาหารสดได้
เกลือทะเล ที่ไม่ได้มาตรฐานบางชนิด จะมีความบริสุทธิ์ไม่เพียงพอ ท่านควรลองวัดปริมาณ PO4 หลังจากที่ท่านนำเกลือที่ใช้อยู่ปัจจุบันไปผสมน้ำแล้ว เกลือหลายยี่ห้อมักจะมีส่วนผสมของฟอสเฟสเจือปนอยู่ ซึ่งท่านควรเลือกใช้เกลือชนิดที่ไม่มีฟอสเฟสเจือปน หรือมีน้อยที่สุด (บางครั้งฉลากข้างถุง อาจเชื่อถือไม่ได้)
สำหรับน้ำที่ท่านใช้ผสมเกลือ หรือใช้เติมน้ำที่ระเหยออกจากตู้ น้ำสะอาดที่แนะนำให้ใช้กับตู้ทะเล ควรเป็นน้ำที่ผ่านการกรองด้วยระบบ Reverse Osmosis หรือจะดีที่สุดถ้าใช้ระบบการกรองแบบ  RO/DI  การใช้น้ำบริสุทธิ์อาจฟังดูสิ้นเปลืองมากจนเกินไป แต่จะเป็นผลดีในระยะยาว ระบบของท่านจะไม่มีการสะสมของโลหะหนักชนิดต่างๆหรือสารเจือปนที่เป็นอันตรายต่อตู้ทะเลของท่าน
แร่ธาตุต่าง ๆ และน้ำผสม แคลเซียมผง ที่ไม่ได้คุณภาพที่ท่านเติมลงไปในระบบ มีผู้เลี้ยงหลายท่านนิยมใช้แคลเซียมผงที่ใช้ในการทดลองทางวิทยาศาสตร์ เป็นตัวเพิ่มแคลเซียมในระบบ การกระทำเช่นนี้จะมีผลข้างเคียงที่ไม่น่าพึงพอใจ เนื่องจากการผสมแคลเซียมใช้เองนั้นแม้ว่าจะมีราคาประหยัด แต่การผสมที่ไม่ถูกวิธี และการใช้แคลเซียมที่ไม่ได้มาตรฐานจะก่อให้เกิดปัญหา PO4 และปัญหาใหญ่อื่น ๆ ตามมาในระบบของท่านภายหลัง
 ระดับ pH ในระบบของท่าน เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ท่านไม่ควรมองข้าม การมีระดับ pH ที่ต่ำเกินไปจะมีผลเสียต่อสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ และมากไปกว่านั้นระดับ pH ที่ต่ำกว่า 7 จะสามารถทำปฎิกริยากับหิน และทรายในระบบของท่าน ซึ่งจะทำให้มีฟอสเฟสละลายออกมากจากหิน และทรายนั้น ๆ จนเกิดปัญหาได้
ถ่านคาร์บอน ที่ไม่ได้มาตรฐาน เป็นแหล่งรวมของฟอสเฟสและธาตุอื่น ๆ ที่ระบบไม่ต้องการเป็นอย่างสูง ไม่ว่าท่านจะล้างน้ำก่อนใช้มากเพียงใด ถ่านคาร์บอนเหล่านี้จะคายฟอสเฟสเข้าสู่ระบบของท่านโดยตลอด ถ้าท่านคิดที่จะใช้ถ่านคาร์บอนที่ใช้กับตู้น้ำจืด บ่อปลา หรือถ่านที่แบ่งขายแยกเป็นกิโล การไม่ใส่ ถ่านคาร์บอน เลยยังมีผลดีเสียกว่า เนื่องจากผลเสียที่ระบบตู้ของท่านจะไดรับ มีมากกว่าผลดีหลายเท่าตัว  
สุดท้ายคือจาก สาหร่ายใบเขียว ต่าง ๆ ที่ท่านมีอยู่ บางท่านอาจคิดว่าการเลี้ยงสาหร่ายในระบบจะช่วยดูดซับฟอสเฟสออกไปได้ แต่ในทางกลับกัน ถ้าท่านปล่อยให้สาหร่ายโตหนาแน่นมากจนเกินไป หรือปล่อยให้ตายในระบบ สาหร่ายเหล่านี้ก็จะคลายฟอสเฟสในตัวของมันออกกลับคืนสู่ระบบของท่าน
 
 
วิธีกำจัด PO4
 
 วิธีแรกที่แนะนำเป็นอย่างยิ่ง คือการดูแลทำความสะอาด ตู้ทะเล ของท่านในเบื้องต้น ท่านควรทำความสะอาดเครื่องใช้ต่าง ๆ ในระบบของท่านอยู่เป็นประจำ อาทิเช่น ท่านควรนำปั้มต่าง ๆ ในตู้ออกมาล้างทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้เกิดการหมักหมมของของเสีย ท่านต้องล้าง โปรตีนสกิมเมอร์ เป็นประจำ และทุก ๆ เดือนท่านควรถอดโปรตีนสกิมเมอร์ออกมาล้างทั้งหมด รวดถึงปั้มที่ใช้งานอยู่ เนื่องจากการล้างเพียงแค่ถ้วยเก็บของเสียนั้นยังไม่เพียงพอ ท่านควรจะขจัดสิ่งปฎิกูลต่าง ๆ ที่ติดอยู่ภายในตัวเครื่องด้วย วิธีนี้เป็นวิธีที่ง่ายและประหยัดที่สุดแต่ได้ผลแน่นอนในระยะยาว
 
วิธีที่สอง การปลูกสาหร่าย (Macro Algae) ชนิดต่าง  อาทิเช่น สาหร่ายองุ่น  สาหร่ายใบเลื่อย การปลูกสาหร่ายในตู้กรองของท่าน นอกจากจะช่วยกำจัด PO4 ออกจากระบบแล้ว ยังช่วยกำจัดของเสียอื่น ๆ ได้อีก การมีตู้สาหร่ายยังช่วยให้สิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ได้อยู่อาศัยและขยายพันธุ์ เพื่อให้ระบบของท่านมีความอุดมสมบูรณ์ เป็นอีกวิธีที่ราคาถูกและไม่ยุ่งยาก แต่มีประโยชน์สูง แต่สิ่งที่ท่านต้องระวังก็คือ ท่านต้องทำการเก็บสาหร่ายที่โตขึ้น ออกจากระบบทุก ๆ อาทิตย์ เพื่อป้องกันมิให้ปริมาณของสาหร่ายมีมากจนเกินไป เนื่องจากบางส่วนที่ไม่ถูกแสงอาจจะตายและคาย PO4 กลับสู่ระบบได้
 
วิธีที่สาม ดูแลค่า pH ให้อยู่ในระดับ 8.3 ไม่ควรให้สูงหรือต่ำจนเกินไปจนสามารถทำปฎิกริยากับ สิ่งต่าง ๆ ในระบบของท่านได้ ดังที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น
 
วิธีที่สี่ เลือกใช้สิ่งของที่มีคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็น เกลือ ถ่านคาร์บอน แร่ธาตุต่าง ๆ อาหารปลา และสิ่งอื่น ๆ ที่ท่านต้องนำมาใส่ลงไปในระบบ วิธีนี้มิได้สร้างขึ้นมาเพื่อสนับสนุนการขายสินค้าราคาแพง แต่หลายท่านคงเข้าใจว่า “ท่านจะได้รับในสิ่งที่ท่านจ่ายไป” การซื้อสินค้าราคาถูกบางชนิดก็ไม่ใช่เรื่องดีเสมอไป อาจจะเป็นการช่วยลดต้นทุนในระยะสั้นให้กับท่าน แต่ท่านอาจจะต้องมาเสียค่าใช้จ่ายดูแลและแก้ไขสิ่งต่าง ๆ ในระยะยาว การไม่เติมอะไรเลยยังมีผลดีมากกว่าการเติมสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพ ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์อีกทั้งยังอาจเกิดโทษในระยะยาว รวมแล้วการใช้ของที่มีคุณภาพ มีตราสินค้าที่เชื่อถือได้ทั่วโลก และมีราคาที่สมเหตุสมผล จึงเป็นทางออกที่ท่านควรปฎิบัติ
 
วิธีที่ห้าคือ การใช้ โปรตีนสกิมเมอร์ ที่มีคุณภาพสูง หลายท่านอาจมองข้ามในสิ่งนี้ แต่ในความเป็นจริงแล้วโปรตีนสกิมเมอร์ราคาถูก ที่ขายกันในปัจจุบัน ไม่สามารถเอาของเสียต่าง ๆ ออกไปได้หมด สิ่งปฎิกูลเล็ก ๆ ในน้ำอีกมากมายที่ยังหลงเหลืออยู่ในระบบนั้นก็เพียงพอที่จะทำให้เกิดอันตรายได้ การใช้ โปรตีนสกิมเมอร์คุณภาพสูง ไม่ใช่เพียงแต่จะช่วยในเรื่องของ PO4 เพียงอย่างเดียว น้ำและสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ในระบบของท่านจะมีสุขภาพที่ดีในระยะยาว
 
วิธีสุดท้าย ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วย ดูดซับฟอสเฟส ที่มีขายอยู่ทั่วไปตามท้องตลาด ปัจจุบันนี้ สารดูดซับฟอสเฟส จะมีอยู่สองชนิดหลัก ๆ คือ based on Aluminum oxide ลักษณะเป็นเม็ดสีขาว และ based on iron oxide ลักษณะเป็นเม็ดสีน้ำตาล สารทั้งสองชนิดนี้มีผู้ใช้แล้วเห็นผลดีกันอย่างแพร่หลาย แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ก็ยังมีบุคคลบางกลุ่มที่อ้างถึงผลข้างเคียงในการใช้สารที่มี Aluminum เป็นส่วนประกอบ โดยเกรงว่าจะมีอลูมิเนียมตกค้างในระบบจนเกิดปัญหาในระยะยาวได้ เนื่องจากอลูมิเนียมมีผลกระทบที่ไม่ดีต่อสิ่งมีชีวิตในระบบ แต่ทั้งนี้การเลือกใช้สารดูดซับฟอสเฟสชนิดใดนั้น ก็ขึ้นอยู่กับความเชื่อและแหล่งข้อมูลที่แต่ละท่านได้รับ
 
ปัญหาฟอสเฟส หรือปัญหาใดๆที่เกิดขึ้นกับระบบ ท่านต้องใช้เวลาและความอดทนในการแก้ไข การเปลี่ยนแปลงสิ่งใดสิ่งหนึ่งในระยะเวลาสั้นๆจะไม่ก่อให้เกิดผลดีต่อ ระบบตู้ ของท่าน ปัญหาฟอสเฟสในระบบท่านควรเริ่มแก้ไขจาก วิธีตามธรรมชาติ เราขอแนะนำให้ท่านลองทำตั้งแต่วิธีที่หนึ่งดังกล่าวไว้ข้างต้น แล้วค่อยๆเริ่มวิธีต่อๆไป ท่านไม่ควรทำพร้อมกันทั้งหมดภายในครั้งเดียว การใช้ยาหรือสารเคมีในการกำจัดฟอสเฟสควรจะเป็นวิธีท้าย ๆ ที่ท่านพึงกระทำ การดูแลรักษาระบบอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับป้องกันปัญหาต่าง ๆ ก่อนที่จะสายเกินแก้
 
 
 
References/further reading 
 
(German article) Sources of Phosphates, Martina Rodacks Wiesbaden Germany
Phosphorus: Algae’s Best Friend, CHEMISTRY AND THE AQUARIUM by RANDY HOLMES-FARLEY

Powered by MakeWebEasy.com