14319 จำนวนผู้เข้าชม |
'ปลาการ์ตูน' 'นีโม่ไทย' ยังต้องเพิ่ม
นอกจากวันสิ่งแวดล้อมโลกแล้ว กับการปลุกกระแสเพื่อให้หมู่มวลมนุษยชาติใส่ใจดูแลสิ่งแวดล้อมนั้น ทางองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ยังประกาศให้มีวันทะเลโลกหรือวันอนุรักษ์ทะเลโลก ซึ่งในแต่ละประเทศ รวมถึงในประเทศไทย ก็จะมีการจัดกิจกรรมเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทาง ทะเลรูปแบบต่าง ๆ
อนุรักษ์พันธุ์ปลาทะเลก็มักเป็นหนึ่งในกิจกรรม
และหนึ่งในปลาเป้าหมายก็คือ “ปลาการ์ตูน”
ทั้งนี้ ในวันที่ 8 มิ.ย. ที่กำลังจะมาถึง ที่อ่าวสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ก็จะมีการจัดกิจกรรม “ปล่อยปลาการ์ตูน” ซึ่งร่วมกันจัดขึ้นโดยองค์กร สถาบัน บริษัทต่าง ๆ ทั่วโลก กว่า 1,000 แห่ง โดยมีโรงแรมดุสิตดีทู บาราคูด้า พัทยา เป็นแกนหลัก และโดยการสนับสนุนพันธุ์ปลาจากเพอร์คูร่า ฟาร์มเลี้ยงปลาการ์ตูนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ที่นอกจากมีวัตถุประสงค์เพื่อลดการจับปลาการ์ตูนอย่างผิดกฎหมายแล้ว ยังมีการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ชลบุรี ในการศึกษาขยายพันธุ์ปลาชนิดนี้เพื่อการค้นคว้าด้วย
“ปลาการ์ตูน” หรือที่หลายคนเรียกติดปากตามชื่อหนังการ์ตูนเกี่ยวกับปลาการ์ตูนว่า “นีโม่” นั้น ข้อมูลจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ว่าไว้ว่า... มีอยู่ทั้งหมด 28 ชนิด โดยในทะเลในเมืองไทยพบปลาการ์ตูน 7 ชนิด ทั้งทะเลฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน คือ... ปลาการ์ตูนส้มขาว, ปลาการ์ตูนอินเดียแดง, ปลาการ์ตูนแดง, ปลาการ์ตูนมะเขือเทศ, ปลาการ์ตูนหลังอาน, ปลาการ์ตูนลายปล้อง, ปลาการ์ตูนอินเดียน
ชนิดของปลาการ์ตูนที่คนทั่วไปคุ้นเคยมากที่สุด เห็นจะเป็นปลาการ์ตูนสี “ส้ม-ขาว” อย่างไรก็ดี ในภาพรวมของปลาทะเลที่มีหน้าตาสีสันน่ารักนี้ เป็นปลาที่อยู่ในกลุ่มเดียวกับ “ปลาสลิดหิน” พบแหล่งอาศัยอยู่ตามแนวปะการังในบริเวณเส้นศูนย์สูตรทั่วโลก อาศัยอยู่กับ “ดอกไม้ทะเล” กินแพลงก์ตอนเป็นอาหาร
ปลาชนิดนี้เป็นปลาที่มีสีสันสวยงาม โดยทั่วไปประกอบด้วยสีส้ม แดง ดำ เหลือง และมีสีขาวพาดกลางลำตัว 1-3 แถบ ทั้งนี้ แม้จะเป็นปลาชนิดเดียวกัน แต่ก็จะมีสีต่างกันเล็กน้อยเสมอ ซึ่งความแตกต่างนี้ทำให้มันสามารถจำคู่ได้ โดยปลาการ์ตูน “เป็นปลาที่อยู่เป็นครอบครัว” และเป็นปลาหวงถิ่น มีเขตที่อยู่ของตนเอง
ข้อมูลจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ระบุไว้อีกว่า... ปลาการ์ตูนออกลูกเป็นไข่ และสามารถเปลี่ยนเพศได้ โดยจะเปลี่ยนเพศเมื่อสิ่งแวดล้อมกำหนดให้ ซึ่งในระยะแรกหลังจากที่ฟักออกจากไข่จะยังไม่สามารถกำหนดได้ว่าเป็นเพศใด จนกว่าจะเป็นตัวเต็มวัยจึงจะปรากฏเป็นปลาเพศผู้ และจากนั้นในปลารุ่นเดียวกันที่มีขนาดใหญ่ที่สุดจะเปลี่ยนเป็นเพศเมีย โดยในสังคมปลาการ์ตูนกลุ่มหนึ่ง ๆ จะมีปลาเพศเมียเพียงตัวเดียวเท่านั้น
เรื่องเพศนี่ก็ถือเป็นอีกจุดน่าสนใจของ “ปลาการ์ตูน”
ขณะที่ความสวยงามก็อาจจะเป็นภัยต่อตัวมันเองได้...
ด้วยความที่ปลาทะเลนั้นสวยงาม และ “ปลาการ์ตูน” ก็ทั้งสวยและดูน่ารัก อีกทั้งยังจับง่าย ผลคือในอดีตมีการจับปลาการ์ตูนจากธรรมชาติมาขายกันเป็นจำนวนมาก ขณะที่ตลาดปลาสวยงาม ก็มีความต้องการสูงอย่างต่อเนื่อง ที่สุด จำนวนประชากรปลาการ์ตูนในท้องทะเลไทยลดจำนวนลงจนเกือบเข้าขั้นภาวะวิกฤติ!! จนต้องมีการวิจัยเพาะเลี้ยงกัน ซึ่งก็มีทั้งที่ดำเนินการโดยภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชน
ในส่วนของภาครัฐ ก็เช่นสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดกระบี่ สังกัดกองเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง กรมประมง ซึ่งเริ่มศึกษาการเพาะพันธุ์ปลาการ์ตูนมาตั้งแต่ต้นปี 2544 และเมื่อถึงเดือน ก.ค. 2545 ก็สามารถเพาะพันธุ์ปลาการ์ตูนได้ 5 ชนิด คือ ปลาการ์ตูนส้มขาว ปลาการ์ตูนลายปล้อง ปลาการ์ตูนลายปล้องหางเหลือง ปลาการ์ตูนหลังอาน ปลาการ์ตูนอินเดียน โดยทั้ง 5 ชนิดมีอัตรารอดสูงอย่างสม่ำเสมอ
กล่าวได้ว่า “ปลาการ์ตูน” มีคุณค่าทางเศรษฐกิจไม่เพียงในด้านการซื้อขายในตลาดปลาสวยงาม แต่ยังรวมถึงคุณค่าทางเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวทางทะเล ควบคู่ไปกับการ “เป็นชีวิตหนึ่งในระบบนิเวศทางทะเลที่ต้องมีการอนุรักษ์ดูแลให้มีสมดุล” จึงต้องมีการคืนปลาการ์ตูนสู่ทะเลไทย
แต่ก็ใช่ว่านึกจะปล่อยปลาการ์ตูนสู่ทะเลก็ปล่อยได้เลย ซึ่ง เปาโล รันโดเน่ ผู้จัดการทั่วไปโรงแรมดุสิตดีทูฯ ก็บอกว่า... “ปลาชนิดนี้ไม่สามารถปล่อยเหมือนปลาชนิดอื่น ๆ ที่เราปล่อยกันธรรมดาได้ ต้องใช้กระบวนการปล่อยที่ค่อนข้างพิเศษ จะต้องใช้นักดำน้ำมืออาชีพนำปลาไปปล่อยในดงดอกไม้ทะเล”
ทั้งนี้ กับการปล่อยปลาการ์ตูนที่อ่าวสัตหีบ ในวันที่ 8 มิ.ย. ที่จะถึง ซึ่งใช้ชื่อกิจกรรมว่า “พานีโม่น้อยกลับบ้าน” ก็จะมีทั้งนักดำน้ำมืออาชีพ และนักถ่ายภาพใต้น้ำ ไปร่วมกันปฏิบัติภารกิจส่งปลาการ์ตูน นำปลาการ์ตูนกลับคืนสู่บ้านดอกไม้ทะเล เพื่อเป็นการอนุรักษ์ทะเลไทยให้มีความสมดุล ให้มีความสมบูรณ์
นี่เป็นตัวอย่างกิจกรรมอนุรักษ์ทะเล-สิ่งแวดล้อมไทย
กิจกรรมลักษณะนี้สามารถจะทำกันได้หลายรูปแบบ
ช่วย ๆ กันทำเพื่อคืนคงความงดงามของเมืองไทย!!.
ที่มา
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
วันเสาร์ ที่ 05 มิถุนายน 2553