พาเที่ยว วัดลามะ (ยงเหอกง) ในปักกิ่ง

14228 จำนวนผู้เข้าชม  | 


เวลาทำการ
09.00น.-17.00น.
ที่ตั้ง
Dongcheng Qu, Yonghegong Dajie
การเดินทาง 
สามารถเดินทางได้โดยรถไฟใต้ดินสาย 5 สีม่วง (สายที่วิ่งเป็นแนวตั้งตัดกับสาย1 สีแดงและสาย2 สีน้ำเงิน) หรือสาย2 สีน้ำเงิน(ที่วิ่งเป็นวง) โดยลงที่ป้าย Yonghegong(ยงเหอกง) ซึ่งเป็นจุดตัดระหว่างสาย5 และสาย2 จากนั้นเดินย้อนลงไปประมาณ 5 นาที 
ราคา
บุคคลทั่วไป 25 RMB  
บัตรนักเรียนในประเทศจีน 12 RMB

 







            วัดลามะ หรือ อีกชื่อหนึ่งคือ วังองค์ชาย 4 หย่งเหอกง (雍和宫Yong He Gong) ถ้าดูจากชื่อหลาย ๆ คนมักจะเกิดข้อสงสัยว่าทำไมถึงได้ชื่อว่าเป็นวัด และวัง(宫Gong ในภาษาจีนแปลว่า วัง)ในคราเดียวกัน ย้อนกลับไป 314ปีที่แล้ว ณ สถานที่แห่งนี้ เป็นวังที่ได้สร้างขึ้นตามพระราชโองการของ คังซีฮ่องเต้ เพื่อเป็นที่ประทับสำหรับพระราชโอรสองค์ที่ 4 พระนามว่า “หย่งเจิ้ง”  ต่อมาเมื่อองค์ชายหย่งเจิ้งได้ขึ้นครองราชย์เป็นฮ่องเต้องค์ที่ 3 แห่งราชวงศ์ชิง พระองค์ได้ทรงพระราชทานพื้นที่ส่วนหนึ่งของวังแห่งนี้ให้กับลามะนิกายจีวรเหลือง  และเมื่อพระองค์เสด็จสวรรคต ฮ่องเต้พระองค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์ชิง เฉียนหลงฮ่องเต้ ทรงได้พระราชทานพื้นที่ทั้งหมดให้กับศาสนา และได้เปลี่ยนชื่อสถานที่แห่งนี้เป็น “วัดลามะ”(喇嘛庙Lama miao)ดังนั้นไม่ว่าจะด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์หรือความศักดิ์สิทธิ์ของสถานที่แห่งนี้แล้ว ได้ทำให้ที่แห่งนี้เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวจีนและต่างชาติเมื่อมายังนครปักกิ่ง ไม่สมควรพลาดด้วยประการทั้งปวง
 
ราคาบัตร 25 RMBหรือประมาณ 75 บาท เพื่อเป็นตั๋วผ่านทางในการย่างเข้าสู่สถานที่แห่งประวัติศาสตร์นี้ ถือว่าคุ้มค่าเลยทีเดียว เพราะว่าในบัตรผ่านประตูจะมีซีดีแนะนำวัดลามะแถมมาให้ด้วย และเมื่อเข้ามาในส่วนแรกของวัดลามะ ท่านจะได้พบกับทางเดินยาวที่ทอดตรงไปยังประตูจาวไท่(昭泰门Zhaotai men)ซึ่งสองฝากข้างของเส้นทางสายนี้ได้ปลูกไว้ด้วยต้นแปะก๊วยโบราณที่คอยให้เงาไม้อันร่มรื่นสำหรับทุก ๆ ท่าน
เนื่องจากราชวงศ์ชิงถือเป็นชาวแมนจูที่มาครองแผ่นดินของชาวฮั่นที่เคยถูกชาวมองโกลยึดครองมาแล้วครั้งหนึ่งในช่วงราชวงศ์เอวี๋ยน และปัจจุบันเป็นวัดของพระลามะที่มาจากทิเบต ดังนั้นเมื่อท่านเดินมาถึงประตูจาวไท่แล้ว ท่านจะได้เห็นชื่อประตูที่กำกับไว้ด้วยตัวอักษรสี่ชนิด คือ ภาษาแมนจู ฮั่น มองโกล และทิเบต
 
                เมื่อท่านได้ก้าวข้ามประตูจาวไท่ มาแล้ว จะพบกับลานกว้างหน้าวัดที่อบอวลไปด้วยกลิ่นควันธูปหอมและบรรยากาศอันศักดิ์สิทธิ์น่าเกรงขาม ทางด้านขวามือคือหอระฆัง ที่มีระฆังโบราณไว้ให้บริการทุกท่านตีตามศรัทธา และทางด้านซ้ายมือคือหอกลอง เมื่อมองไปด้านซ้ายขวาของตำหนักเทียนหวัง (天王殿 Tianwang dian)จะพบกับสัญลักษณ์ของพระราชวังชั้นในคือ สิงโตหินหนึ่งคู่ที่หูหรุบ และคิ้วปิดตา ถัดออกไปด้านนอกของสิงโตทั้งสองฝั่ง คือ แท่นศิลาจารึกสี่ภาษา ซึ่งสลักเอาไว้ด้วยประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงของวัดลามะแห่งนี้ และเมื่อท่านก้าวเข้าสู่ตำหนักเทียนหวังจะพบกับองค์พระศรีอริยเมตไตรในรูปแบบของลามะทิเบต และท้าวจตุโลกบาล เมื่อเดินอ้อมไปทางด้านหลังจะพบกับพระโพธิสัตว์เหวยถัวที่คอยช่วยงานขององค์พระศรีอริยเมตไตรนั่นเอง
 
             
   หลังจากเดินออกมาจากตำหนักเทียนหวังแล้ว ท่านจะได้พบกับ กระถางธูปสัมฤทธิ์สามขาขนาดใหญ่ ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็นหนึ่งในสามสุดยอดแห่งปักกิ่ง อันได้แก่ กระถางธูปในวัดลามะ อ่างหยกในถวานเฉิง และกำแพงเก้ามังกรในสวนสาธารณะเป่ยไห่ กระถางธูปใบนี้ได้สร้างขึ้นในสมัยของเฉียนหลงฮ่องเต้(1747) ถ้าทุกท่านสังเกตุที่กระถางธูปนี้ให้ดี จะเห็นถึงความละเอียด ประณีตและความใส่ใจต่อการหลอมกระถางนี้ขึ้นมา ลวดลายบนกระถางประดับไปด้วย มังกรล่อแก้ว สิงโตเล่นลูกบอล และอื่นๆ อีกมากมาย ถัดไปจะเป็นศาลาขนาดกลางที่ตั้งไว้ด้วยแท่นศิลาขนาดใหญ่สี่หน้า สี่ภาษา ในแต่ละภาษาล้วนแปลได้ความนัยเดียวกันคือที่มา แนวคิด และคำสั่งสอนของลามะนิกายเหลือง ถัดขึ้นมาทางทิศเหนือจะตั้งไว้ด้วย เขาพระสุเมรุสัมฤทธิ์ที่เป็นตัวแทนทางด้านแนวคิดทางด้านโลกมนุษย์และสวรรค์แห่งศาสนาพุทธ
 
                มหาตำหนักยงเหอกง(雍和宫大殿Yonghegong dadian)ได้ตั้งตระหง่านอยู่ถัดจากเขาพระสุเมรุสัมฤทธิ์ ภายในประดิษฐานไว้ด้วยองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า(องค์กลาง) พระพุทธเจ้าในอดีต (ด้านขวา) และพระพุทธเจ้าในอนาคต (ด้านซ้าย) มาถึงตรงนี้แล้ว ทุกท่านคงได้สัมผัสถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรม ที่ก่อให้เกิดความต่างทางด้านรูปลักษณ์ ซึ่งรวมถึง 18 อรหันต์ที่ประดิษฐานอยู่ทางด้านซ้ายขวาภายในตำหนักแห่งนี้ด้วย เมื่อท่านเดินอ้อมขึ้นเหนือไปจะเจอกับ ตำหนักหย่งโย่ว(永佑殿Yongyou dian)เมื่อท่านก้าวเข้าไปในตำหนัก จะได้พบกับพระพุทธองค์ใหญ่สามองค์ คือ พระอายุวัฒนะ (องค์กลาง) พระครูแห่งยา (องค์ขวา) และ พระแห่งความกล้าหาญ เทพแห่งสิงโต (องค์ซ้าย) และเมื่อเดินอ้อมมา ท่านจะได้พบกับบรรยากาศอันร่มรื่นภายใต้ร่มเงาของต้นสนอายุนับร้อยปี (ด้านขวาของลานกว้างมีตำหนักที่ศักดิ์สิทธิ์ทางด้านขอการคู่ครองตั้งอยู่ ท่านที่ต้องการ...ห้ามพลาดเป็นอันขาด)
                เมื่อเดินผ่านลานกว้างไป จะเป็นตำหนักฝ่าหลุน(法轮殿Falun dian)ซึ่งภายในท่านจะได้เห็นรูปหล่อทองสัมฤทธิ์ของผู้นำแห่งลามะนิกายเหลือง องค์จงคาปา ด้านหลังขององค์จงคาปา จะเป็นไฮไลท์จุดที่ 1 ของวัดลามะแห่งนี้ คือ ภูเขาอรหันต์ขนาดใหญ่ที่แกะสลักจากไม้กฤษณา สูงถึง34เมตร ภายในภูเขามีรูปปั้นพระอรหันต์ที่ทำจากทองคำ เงิน ทองสัมฤทธิ์ เหล็ก และดีบุกจำนวน 449 รูป ด้านหน้าของภูเขาอรหันต์ ได้วางไว้ซึ่ง อ่างไม้ธรรมดาที่ไม่ธรรมดา เพราะว่าอ่างไม้นี้เป็นไฮไลท์จุดที่ 2 ที่ทุกท่านไม่สมควรพลาด ลวดลายบนอ่างไม้ได้เล่าเรื่องของปลาที่กระโดดข้ามประตูแล้วกลายร่างเป็นมังกร ซึ่งอ่างไม้นี้คืออ่างอาบน้ำที่เฉียนหลงฮ่องเต้ได้ใช้สรงน้ำหลักประสูตรได้ 3 วัน
 
            เมื่อเดินออกจากตำหนักฝ่าหลุนแล้ว ทุกท่านจะได้พบกับจุดที่สำคัญที่สุดของวัดลามะแห่งนี้ คือ หอหมื่นสุข(万福阁Wanfo ge) ภายในหอทุกท่านจะได้พบกับพระพุทธรูปที่จะต้องทำให้ท่านแหงนหน้า ชะเง้อคอ มองด้วยความตื่นตะลึง เนื่องจากองค์พระองค์นี้มีความสูงถึง 26 เมตร แบ่งออกเป็นสองช่วงคือ ใต้ดิน 8 เมตรและ จากพื้นดินขึ้นไปอีก 18 เมตร ซึ่งกินเนสบุ๊คได้รับประกันแล้วว่า องค์พระองค์นี้ได้แกะสลักขึ้นมาจากไม้กฤษณาขาวท่อนเดียว ซึ่งไม้ท่อนนี้องค์ดาไลลามะที่7 ได้ใช้เวลาถึง 3 ปีในการขนส่งมาที่นครปักกิ่ง เพื่อที่จะถวายให้กับเฉียนหลงฮ่องเต้ (1753) ที่ได้มีราชโองการให้แกะสลักองค์พระโพธิสัตว์รูปนี้ขึ้นเพื่อเป็นสิริมงคลสืบเนื่องต่อไป
 
                ภายในวัดลามะแห่งนี้ยังมีตำหนักน้อยใหญ่ และเรื่องราวอีกมากมายที่รอให้ทุกท่านมาสำรวจ เยี่ยมชมด้วยตนเอง สำหรับผู้เขียนเองแล้ว ฤดูที่เหมาะกับการมาเยือนวัดลามะมากที่สุดคือ ฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ต้นไม้ ใบไม้ ต่าง ๆ ภายในวัด เริ่มที่จะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเหลืองทอง ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นช่วงเวลาที่ทุกท่านจะสามารถเก็บภาพแห่งความประทับใจได้อย่างสวยงามและน่าจดจำเป็นที่สุด 

Story By Shoyukung

Powered by MakeWebEasy.com