10170 จำนวนผู้เข้าชม |
สั่งปิดจุดดำน้ำ 7 จุด "อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม-หมู่เกาะเภตรา-ตะรุเตา-หมู่เกาะชุมพร-หาดนพรัตน์ ธารา หมู่เกาะพีพี-หมู่เกาะสุรินทร์-หมู่เกาะสิมิลัน” ฝ่าฝืนสั่งดำเนินคดีเด็ดขาด หวังฟื้นฟูตัวปะการังฟอกขาว ชงตั้งคณะกรรมการศึกษาวิจัยแก้ไขปัญหาด่วน พบปะการังเสียหายเกินร้อยละ 50 ยํ้าฟื้นฟูอย่างน้อยต้อง 5 ปี
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 20 ม.ค. นายสุนันต์ อรุณนพรัตน์ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้แถลงข่าวถึงการแก้ไขปัญหาปะการังฟอกขาวในทะเลอันดามันและทะเลอ่าวไทย ภายหลังการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่า จากกรณีข่าวปะการังฟอกขาวเนื่องจากน้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้นจากปรากฏการณ์ โลกร้อน และสารเคมีจากที่มนุษย์ใช้ในชีวิตประจำวัน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้เสนอให้ปิดอุทยานแห่งชาติทางทะเลบางแห่ง ซึ่งทางกรมอุทยานฯ ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะทะเลฝั่งอันดามัน เราต้องการประกาศเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ดังนั้น หากปรากฏว่า พื้นที่ใดมีปะการังฟอกขาวเกินร้อยละ 70 ทางกรมจะปิดเฉพาะจุด
โดยจะสั่งงานทันทีในวันที่ 21 ม.ค. นี้ ถ้าสามารถสั่งการได้ทัน ห้ามดำน้ำ ห้ามจอดเรือ และถอดทุ่นจอดเรือ โดยวางทุ่นสีขาวห้ามเข้าแทน ซึ่งจะเป็นงานของเจ้าหน้าที่อุทยานนั้น ๆ หากมีผู้ฝ่าฝืน จะดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด โดยยึดมาตรา 16 ( 18 ) ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ในอัตราโทษปรับ 1,000-10,000 บาท เป็นอัตราเดียวกับการห้ามนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าอุทยานแห่งชาติ และในกรณีที่ผู้ฝ่าฝืนเป็นบริษัทเอกชนก็จะให้บริษัทนั้นติดแบล็กลิสต์ ซึ่งพื้นที่ที่ปิดนั้น จะมีนักวิชาการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าศึกษาพัฒนาการฟื้นฟู เช่น การเพาะปะการังตัวอ่อนเข้าแทนที่ การสร้างปะการังเทียมเพิ่ม
นายสุนันต์กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ จากการหารือนักวิชาการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทช. ทุกฝ่ายเห็นว่า อุทยานแห่งชาติที่จะต้องงดกิจกรรมดำน้ำ เพื่อให้ปะการังฟื้นตัว ประกอบด้วย 1. อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง บริเวณเกาะเชือก 2. อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา จ.สตูล บริเวณเกาะบุโหลนไม้ไผ่ เกาะบุโหลนรังผึ้ง 3. อุทยานแห่งชาติตะรุเตา จ.สตูล บริเวณเกาะตะเกียง เกาะหินงาม เกาะราวี หาดทรายขาว เกาะดง 4. อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร บริเวณเกาะมะพร้าว 5. อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา–หมู่เกาะพีพี บริเวณแนวปะการังบริเวณหินกลาง 6. อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา บริเวณอ่าวสุเทพ อ่าวไม้งาม เกาะสตอร์ค หินกอง อ่าวผักกาด และแนวปะการังหน้าที่ทำการอุทยาน 7. อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา บริเวณอ่าวไฟแว๊ป และอีส ออฟ อีเด็น
นายสุนันต์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังใช้มาตรการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว หรือส่งเสริมให้เที่ยวในจุดอื่นที่ไม่ใช่การดำน้ำ เช่น ชายหาด ภูเขา เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในอุทยาน เพิ่มความเข้มข้นในการตรวจจับการลักลอบทำประมงในเขตอุทยานแห่งชาติ สำหรับการฟื้นฟูแนวปะการัง ต้องทำอย่างเร่งด่วน โดยตั้งคณะกรรมการร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสถาบันการศึกษา เพื่อเร่งดำเนินการ ทั้งนี้ การเกิดปะการังฟอกขาวครั้งนี้ถือว่า ร้ายแรงมาก ปะการังที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือปะการังเขากวาง และถ้าประเมินความเสียหายภาพรวมปะการังทั้งประเทศจากปรากฏการณ์นี้ พบว่า ปะการังเสียหายเกินร้อยละ 50 การฟื้นฟูนั้น อย่างน้อยก็ต้องใช้เวลา 5 ปี ซึ่งอาจต้องเอาปะการังที่เพาะแล้วลงไปช่วยฟื้นฟูปะการังตามธรรมชาติด้วย
เมื่อถามว่า เหตุที่เกิดขึ้น มีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวมากน้อยเพียงใด นายสุนันต์กล่าวว่า เรื่องผลกระทบนั้น ตอนนี้ยังไม่มีการปิดอุทยาน จึงยังไม่มีการประเมินผลกระทบ และเราไม่ได้ปิดทั้งอุทยาน ปิดเฉพาะจุดล่อแหลม ซึ่งคงไม่ปิดยาวถึง 5 ปี เราควรเน้นควบคุมจำนวนนักท่องเที่ยวที่ดำน้ำดูปะการัง ควบคุมผู้ประกอบการไม่ให้ทำกิจกรรมที่กระทบต่อปะการังมากกว่า และอาจต้องสำรวจเพิ่มพื้นที่แหล่งดำน้ำใหม่มารองรับด้วย อย่างไรก็ตาม ถ้าจุดไหนที่มีแนวโน้มเสี่ยงจะเกิดปะการังฟอกขาวเกินร้อยละ 50 ก็ต้องจับตาควบคุมด้วย ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นแหล่งดำน้ำใหม่โดยไม่ดูแล ซึ่งเดือน มี.ค.-เม.ย. ก็มีความน่าเป็นห่วงเช่นกันว่า อุณหภูมิของน้ำจะสูงขึ้นอีก ส่วนเรื่องหากมีการปล่อยให้ทำประมงไม่เหมาะสมนั้น จะพิจารณาลงโทษผู้เกี่ยวข้องอย่างแน่นอน.