เพาะเลี้ยง กุ้งมดแดง

19886 จำนวนผู้เข้าชม  | 

 การเลี้ยงสัตว์ทะเลสวยงามในปัจจุบันนิยมเลี้ยงสัตว์ทะเลที่ไม่ใช่ปลาเพิ่มขึ้นไม่ว่าจะเป็นเห็ดทะเล  กุ้งและปลาสวยงาม และนิยมสร้างตู้จำลองที่มีแนวปะการัง ทำให้กุ้งทะเลสวยงามกลายเป็นส่วนประกอบที่ช่วยเพิ่มสีสันและรักษาสมดุลของระบบนิเวศภายในตู้ได้เป็นอย่างดี โดยกุ้งที่นิยมนำมาใช้มีหลายประเภท ได้แก่ กุ้งมดแดง กุ้งพยาบาล กุ้งนักเลง กุ้งไฟ กุ้งเปปเปอร์มิ้นท์และกุ้งเซ็กซี่ 

ล่าสุดเกี่ยวกับเรื่องนี้ นางสาววารินทร์ ธนาสมหวัง ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง เผยว่า กุ้งที่พบในตลาดส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็นกุ้งที่จับมาจากธรรมชาติทั้งสิ้น กรมประมงจึงเกรงว่ากุ้งทะเลในแนวปะการังจะเสี่ยงต่อการถูกรบกวนและสูญพันธุ์ได้ในที่สุด ทางศูนย์วิจัยและพัฒนาชายฝั่งสมุทรสาคร กรมประมง จึงได้ทำการศึกษาและรวบรวมข้อมูลทางด้านชีววิทยา ด้านการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของลูกกุ้งวัยอ่อนในระยะต่าง ๆ เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านวิชาการ ตลอดจนการผลิตกุ้งทะเลสวยงามเชิงพาณิชย์ เพื่อทดแทนการจับจากธรรมชาติ โดยได้พัฒนาเทคนิคการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลสวยงามด้วยการให้อาหารที่มีคุณภาพ การใช้กรองชีวภาพและโปรตีนสกิมเมอร์ในการเพาะพันธุ์กุ้งมดแดง และประสบความสำเร็จสามารถขยายผลไปสู่การเพาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์ได้  

กุ้งมดแดงเป็นกุ้งทะเลขนาดเล็กมีสีแดงสลับขาว พบได้ง่ายตามแนวปะการังของทะเลเขตร้อนทั่วโลก อาศัยอยู่ในความลึกตั้งแต่สองเมตรขึ้นไป ชอบอยู่ใต้ปะการังหรือซอกหิน และจากพฤติกรรมของกุ้งมดแดงที่มักจะเก็บกินเศษอาหาร ซากพืชซากสิ่งปฏิกูล หากนำมาเลี้ยงชนิดเดียวหรือเลี้ยงร่วมกับสัตว์น้ำชนิดอื่นจะช่วยทำความสะอาดพื้นล่างของตู้ได้ อีกทั้งยังสามารถกินดอกไม้ทะเลขนาดเล็กที่มีเข็มพิษที่เป็นอันตรายได้อีกด้วย “กุ้งมดแดง” เลยกลายเป็นกุ้งสวยงามที่ตลาดต้องการมากในปัจจุบัน

ทางด้านนางชมพูนุท หลักดี นักวิชาการประมงปฏิบัติการ และนายวรดร สุขสวัสดิ์ เจ้าพนักงานประมงปฏิบัติงานศูนย์วิจัยและพัฒนาชายฝั่งสมุทรสาคร สำนักวิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง กรมประมงร่วมกันเปิดเผยว่าทางศูนย์ฯ ได้ทำการคัดเลือกพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์กุ้งมดแดงที่มีลักษณะสมบูรณ์ แข็งแรง รูปร่างสมส่วน อวัยวะและรยางค์ต่าง ๆ ครบสมบูรณ์ ลวดลายและสีเด่นชัด โดยให้กินอาร์ทีเมียตัวโตเต็มวัย เสริมด้วยเพรียงทรายตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ วันละ 2 มื้อ จากนั้นนำแม่พันธุ์ที่มีไข่แก่ออกไปใส่ไว้ในถังฟักไข่พลาสติกสีดำขนาด 350 ลิตร ปริมาตรน้ำ 300 ลิตร ให้อากาศผ่านหัวทรายเบา ๆ เมื่อไข่ที่หน้าท้องฟักออกเป็นตัวอ่อนจึงนำแม่กุ้งออกจากถังฟักไข่

จากนั้นอนุบาลในห้องควบคุมอุณหภูมิ เพื่อไม่ให้อุณหภูมิน้ำในรอบวันแตกต่างกันมาก ให้อากาศผ่านหัวทรายเบา ๆ ป้องกันไม่ให้รยางค์ขาดหรือหลุด โดยใช้ถังพลาสติกสีดำขนาด 350 ลิตร ปริมาตรน้ำ 300 ลิตร ที่ความหนาแน่น 2 ตัวต่อลิตร หรือ 600 ตัวต่อถัง ดูดตะกอนและเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกวันครั้งละ 50 เปอร์เซ็นต์ 

อาหารสำหรับลูกกุ้งมดแดงวัยอ่อน เริ่มต้นด้วยโรติเฟอร์ร่วมกับแพลงก์ตอนพืช อาร์ทีเมียแรกฟัก อาทีเมียอายุ 3-4 วัน และอาหารผสมไข่ตุ๋น ทำให้ผลผลิตลูกกุ้งมดแดงมีอัตรารอดตายสูง นอกจากนี้ทางศูนย์ฯ ได้เตรียมเผยแพร่ความรู้ในการเพาะเลี้ยงกุ้งมดแดงให้กับเกษตรกรและผู้สนใจ ในรูปของเอกสารเผยแพร่ และเอกสารวิชาการ เป็นการเสริมสร้างอาชีพให้กับเกษตรกรและช่วยลดปริมาณการจับกุ้งมดแดงจากธรรมชาติได้อีกทางหนึ่ง

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาชายฝั่งสมุทรสาคร สำนักวิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง กรมประมง 0-3485-7136 หรือ 0-3442-6220 ในวันและเวลาราชการ.



ที่มา
หนังสือพิมพ์ เดลินิวส์
วันศุกร์ ที่ 25 มีนาคม 2554


Powered by MakeWebEasy.com