จุฬาฯ เตรียมเพาะพันธุ์ปะการังวิธีใหม่ เป็นครั้งแรกของไทยอาศัยการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ หวังฟื้นฟูทะเลไทย หวั่น หากปล่อยให้ฟื้นฟูโดยธรรมชาติ ต้องใช้เวลากว่า 30 ปี...
เมื่อวันที่ 27 ม.ค. รศ.ดร.เจริญ นิติธรรมยง หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในงานเสวนาเรื่อง ฟื้นฟูปะการังไทยภายใต้วิกฤติสภาวะแวดล้อมโลก ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า จากการติดตามปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว ที่เกิดขึ้นบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทย รวมทั้งมีการระดมความคิดเห็นจากนักวิชาการ ในการฟื้นฟูแนวปะการังที่รับผลกระทบ พบว่า วิธีการที่ช่วยฟื้นฟูได้อย่างยั่งยืน คือ การเพาะพันธุ์ปะการัง ทั้งนี้ วิธีการฟื้นฟูปะการังที่ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยนิยมใช้ คือ การทำปะการังเทียม โดยหลักการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ ด้วยการนำชิ้นส่วนของปะการังที่มาจากโคโลนีปะการังที่สมบูรณ์ หรือ ชิ้นส่วนปะการังที่แตกหัก จากนั้น จึงนำมายึดติดด้วยซีเมนต์กับวัสดุที่ต้องการให้เป็นพื้นผิว เช่น หิน อิฐบล็อก แท่งเหล็ก และท่อพีวีซี จากนั้น จึงย้ายไปปลูกในที่ที่ต้องการ ซึ่งวิธีการดังกล่าวมีข้อจำกัด รวมทั้งมีอัตราการอยู่รอดต่ำเมื่อเกิดการฟอกขาว
รศ.ดร.เจริญ กล่าวต่อว่า คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ฯ ได้ศึกษาเทคนิคการฟื้นฟูปะการังที่อาศัยการสืบพันธุ์ของปะการังแบบอาศัยเพศ ซึ่งเป็นวิธีใหม่ครั้งแรกของประเทศไทย ทั้งนี้การเพาะพันธุ์ปะการังวิธีดังกล่าว สามารถผลิตปะการังจำนวนมาก รวมทั้งมีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงสูง เนื่องจากตัวอ่อนปะการังที่ได้จะมีความหลากหลายทางพันธุกรรม ซึ่งจะแข็งแรงมากกว่าปะการังเทียมที่ได้จากการปักชิ้นส่วนเดิมที่เสียหายลง ทะเล
ด้าน รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล กล่าวถึงขั้นตอนการผสมพันธุ์ปะการัง ว่า โดยปกติปะการังสวนใหญ่จะมีการผสมพันธุ์แบบอาศัยเพศปีละครั้ง โดยปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ออกมาผสมกันในมวลน้ำ คณะผู้วิจัยได้ทำการเพาะขยายพันธุ์ปะการัง โดยการเก็บเซลล์สืบพันธุ์ที่ถูกปล่อยตามธรรมชาติมาทำการปฏิสนธิในโรงเพาะฟัก ปะการัง ไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิ จะพัฒนาเป็นตัวอ่อนระยะว่ายน้ำ และ หลังจากนั้น 1 สัปดาห์ ตัวอ่อนเหล่านั้น จะเกาะบนวัสดุที่เตรียมไว้ และเติบโตเป็นปะการังที่สมบูรณ์ต่อไป ทั้งนี้ตัวอ่อนที่เพาะขยายพันธุ์ได้จะทำการอนุบาลในโรงเพาะฟัก 1 - 2 ปี ก่อนนำกลับลงทะเล
รศ.ดร.สุชนา กล่าวว่า ปัจจุบันปะการังที่เพาะขยายพันธุ์ได้ด้วยวิธีนี้ มีมากกว่า 10 ชนิด ทั้งปะการังกิ่ง และปะการังก้อน ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบอัตราการรอดของปะการังในธรรมชาติกับวิธีการนี้ พบว่าอัตรารอดของปะการังในธรรมชาติค่อนข้างต่ำมาก ไม่เกินร้อยละ 0.01 ขณะที่วิธีการเพาะขยายพันธุ์ปะการังวิธีนี้ มีอัตราการปฏิสนธิมากกว่าร้อยละ 95 อัตราการลงเกาะ ร้อยละ 50 - 75 และ อัตรารอดภายหลังการเลี้ยงเป็นเวลา 6 เดือน ร้อยละ 40 - 50
“การเพาะพันธุ์ปะการังมีค่าใช้จ่ายสูงมาก แต่หากเราปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นฟูกันเอง เห็นจะไม่ได้ เนื่องจากความเสียหายของปะการังมีมากเกินกว่าที่จะฟื้นฟูได้เอง รวมทั้งต้องใช้เวลากว่า 30 ปี ทั้งนี้ปะการังกิ่งมีอัตราการเติบโตปีละ 8 - 10 เซนติเมตร ในขณะที่ปะการังก้อน เติบโตปีละ 4 - 5 เซนติเมตรเท่านั้น ซึ่งยังต้องขึ้นอยู่กับแหล่งอาศัยและปัจจัยแวดล้อม” รศ.ดร.สุชนา กล่าว